ใช้ชีวิตเเบบไขข้อดี ดูแลอย่างไรให้ห่างไกลโรคข้อเข่าเสื่อม
ชีวิตทุกคนปฏิเสธไม่ได้ ก็คืออายุที่เพิ่มขึ้น เมื่อถึงวัย ความเสื่อมถอยของระบบต่างๆ ของร่างกายก็เริ่มเกิดขึ้น มากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับการใช้งาน และการดูแลรักษาร่างกาย ซึ่งอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพที่มักเกิดขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น และเป็นอาการที่สร้างปัญหาในการใช้ชีวิตก็คือ โรคข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อมคืออะไร
โรคข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis of knee) คือโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมของข้อเข่า ซึ่งตำแหน่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนคือ บริเวณกระดูกอ่อนผิวข้อ (Articular cartilage) ในข้อชนิดที่มีเยื่อบุ (Diarthrodial joint) รวมถึง กระดูกบริเวณใกล้เคียง เช่น ขอบกระดูกในข้อ (Subchondral bone) มีการเปลี่ยนแปลงของน้ำไขข้อ ทำให้คุณสมบัติในการหล่อลี่นลดลง
อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม
เมื่อข้อเข่าเสื่อม กระดูกอ่อนของผิวข้อ มีการเปลี่ยนแปลง บางลง ประกอบกับน้ำไขข้อน้อย ทำให้คุณสมบัติในการหล่อลี่นลดลง เมื่อขยับและเคลื่อนไหว เกิดการเสียดสีบริเวณข้อเข่า จึงทำให้มีอาการ ปวดข้อเรื้อรัง ข้อฝืด ตึง ข้อติด ข้อบวมผิดรูป เดิน และเคลื่อนไหวได้ลำบาก มีเสียงลั่น หรือดังกรอบแกรบในข้อเข่า หรือหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้สูญเสียการเดินได้
สาเหตุที่ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่มักเกิดขึ้นคนสูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป โดยเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากการเสื่อมของอวัยวะตามวัย
หลีกเลี่ยงพฤติกรรมทำร้ายข้อ
เมื่อเอ่ยถึง โรคข้อเข่าเสื่อม หลายนคนอาจมองว่าเป็นโรคที่ไกลตัว และมักเกิดขึ้นกับคนสูงอายุเท่านั้น ซึ่งความจริงแล้ว โรคข้อเข่าเสื่อมสามารถเกิดได้เร็วขึ้น หากไม่ดูแลรักษาสุขภาพข้อเข่าให้ดี ซึ่งความเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมนั้นส่วนนึงมาจากการใช้งานเข่าที่ไม่เหมาะสม มีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป นั่งงอเข่า พับเข่า การสวมใส่รองเท้าส้นสูง และ อุบัติเหตุรุนแรงที่ทำให้เกิดความผิดปกติของข้อเข่า
การดูแลรักษาข้อเข่าจึงควรเริ่มทำตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อเป็นการยืดอายุการใช้งานของข้อเข่า และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม และอาการเสื่อมของข้อเข่าก่อนวัยอันควร
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ อย่าปล่อยให้อ้วนจนเกินไป เพื่อลดภาระการรับน้ำหนักของข้อเข่า
- หลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้าง นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้หมั่นเปลี่ยนท่าทางการนั่ง ไม่นั่งพับ งอเข่าเป็นเวลานานๆ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และเลือกกิจกรรมการออกกำลังกายที่ไม่ปะทะรุนแรงบริเวณข้อเข่า อาจเลือกกิจกรรมที่เสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง และเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการสวมใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานานๆ
- เลือกรับประทานอาหารที่มีปรโยชน์ ครบหมู่อาหาร หรือเสริมอาหารที่มี Collagen Type II (UC-II) ตามธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น ปลาทะเล นม ไข่ เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ กระดูกอ่อนของสัตว์ และอาหารที่มีกรดไขมัน โอเมก้า 3 หรือ เลือกทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยในการดูแลสุขภาพข้อเข่า ที่มีส่วนผสมของ Collagen Type II (UC-II) เพิ่มเติมก็ได้
ข้อเข่าไม่ดี ออกกำลังกายได้ไหม ?
หลายคนกังวลเมื่อมีอาการแปลกๆ เกิดขึ้นกับข้อเข่า พาลทำให้กลัว และหลีกเลี่ยงที่จะออกกำลังกาย ซึ่งความจริงแล้ว การออกกำลังกายนั้น นอกจากเป็นกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มสมรรถภาพของหัวใจ และ เพิ่มความฟิตของร่างกาย แล้ว ยังช่วยดูแล และรักษาการทำงานของข้อเข่าได้ เพียงแต่ต้องเลือกกิจกรรมที่เหมาะสม และอยู่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ
โดยสามารถทำกิจกรรมการออกกำลังกายได้ วันละ 20-40 นาที 3-5 วันต่อสัปดาห์ กิจกรรมที่ใช้ในการออกกำลังกาย เป็นกิจกรรมที่ไม่ปะทะรุนแรง อย่างเช่น การเดิน ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ แอโรบิกในน้ำ รำมวยจีน โยคะ และ การเต้นลีลาศ เป็นต้น สำหรับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินความพร้อมและเลือกกิจกรรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมตามอาการ
โรคข้อเข่าเสื่อมไม่ร้ายอย่างที่คิด หากเลือกใช้ชีวิตให้เหมาะสม ป้องกันและลดพฤติกรรมที่จะทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น ทั้งการรักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม ทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สิ่งเหล่านี้หากทำได้ครบไม่เพียงแต่ช่วยยืดอายุการทำงานของข้อเข่าเท่านั้น แต่ยังช่วยให้สุขภาพโดยรวมของร่างกายแข็งแรงขึ้นอีกด้วย