5 สาเหตุการเป็นตะคริว พร้อมวิธีป้องกันด้วยตนเอง

5  สาเหตุการเป็นตะคริว พร้อมวิธีป้องกันด้วยตนเอง

 

 อาการตะคริว (Muscle Cramp) คืออาการหดเกร็งบริเวณกล้ามเนื้อ ทำให้เรารู้สึกเจ็บปวด ซึ่งถ้าใครที่เคยเป็นตะคริว คงเข้าใจถึงความทรมานเมื่อมีอาการขึ้นมาค่ะ ยิ่งโดยเฉพาะเวลาเป็นตะคริวตอนนอน นอนหลับอยู่ดีๆ ก็เกิดอาการขึ้นจนสะดุ้งตื่น  ออกกำลังกายอย่างมีความสุข แต่อยู่ดีๆ ก็เป็นตะคริวขึ้นมา เป็นต้น

อาการตะคริวนั้นเราสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเองค่ะ ซึ่งวิธีการแก้อาการตะคริวก็สามารถทำได้ตามนี้

1. ตะคริวเพราะขาดน้ำ

     ขณะที่เราวิ่ง อาจจะวิ่งในระยะทางไกล เราไม่ได้ดื่มน้ำเลย เมื่อเป็นแบบนี้ก็มีโอกาสที่จะเป็นตะคริวได้สูงค่ะ เพราะเมื่อร่างกายขาดน้ำ ปลายประสาทของเราก็จะถูกกระตุ้นแล้วจะเกิดปฏิกิริยาที่กล้ามเนื้อ โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นที่ขา น่อง ต้นขาและเท้า และมักจะเกิดขึ้นเมื่ออากาศร้อน รวมถึงการออกกำลังกายที่รุนแรงมีการกระชากกระชั้น เช่น วิ่งๆ อยู่แล้วก็มีการเร่งสปีด แบบนี้ก็มีโอกาสที่จะเป็นตะคริวได้สูงค่ะ ทางแก้ก็คือพยายามจิบน้ำตลอดเวลาที่ออกกำลังกายค่ะ

2. ตะคริวเพราะขาดแร่ธาตุและอิเล็กโทรไลต์

     โซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม หรือว่าโพแทสเซียม กลุ่มพวกนี้เรียกว่าอิเล็กโทรไลต์ เป็นสารที่อยู่ในน้ำต่างๆ ในร่างกายเราค่ะ เมื่อเกิดการเสียสมดุลก็จะทำให้เกิดตะคริวขึ้นได้ แล้วเหตุใดจึงเกิดการเสียสมดุล นั่นก็เพราะว่าขาดน้ำนั่นเองค่ะ การขาดน้ำจะส่งผลไปถึงการขาดแร่ธาตุต่างๆ ที่จำเป็น ให้เราแก้ด้วยการดื่มน้ำเกลือแร่ ซึ่งสามารถที่จะช่วยลดการเป็นตะคริวได้ เมื่อเราออกกำลังกายก็ดื่มเกลือแร่ไปด้วยเพื่อทดแทนแร่ธาตุที่ขาดไป ทำให้การเป็นตะคริวลดลงค่ะ นอกจากนี้การกินอาหารอย่าง กล้วย มันเทศ โยเกิร์ต ถั่วต่างๆ ก็ช่วยเติมแร่ธาตุที่สำคัญกลับสู่ร่างกายและช่วยลดการเป็นตะคริวได้เช่นกัน

3. ตะคริวเพราะตั้งครรภ์

     หญิงตั้งครรภ์มีโอกาสในการเป็นตะคริวสูงมาก โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ในช่วงเดือน 4 – 9 ช่วงนี้มีโอกาสที่จะเป็นตะคริวได้สูง สาเหตุก็มาจาก ในช่วงที่ตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณแม่จะมีภาวะแมกนีเซียมและโพแทสเซียมต่ำกว่าปกติ  วิธีการการแก้ไขคือ ดื่มน้ำให้มากขึ้น อาจจะต้องทานยาในกลุ่มที่สามารถช่วยเพิ่มแร่ธาตุได้ ทั้งนี้ก็ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจว่ามีเกลือแร่หรือว่าแมกนีเซียมต่ำหรือเปล่า ซึ่งแพทย์ก็จะวินิจฉัยแนวทางการรักษาให้เองค่ะ

4. ตะคริวเพราะใช้กล้ามเนื้อนานกว่าปกติ

     เช่นการวิ่งมาราธอน หรือใช้กล้ามเนื้อเป็นเวลานานๆ ก็อาจเกิดตะคริวในขณะที่ทำกิจกรรมอยู่เลยก็ได้ โดยเราสามารถลดอาการตะคริวจากสาเหตุนี้ได้ โดยการวอร์มอัพก่อนการออกกำลังและคูลดาวน์หลังออกกำลัง จิบน้ำไปเรื่อยๆ ระหว่างที่ออกกำลังหรือทำกิจกรรมอื่นๆ จะดีกว่ากินรวดเดียวเยอะๆ หรือดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ ก็จะทำให้การเกิดตะคริวลดลงค่ะ

 

5. ตะคริวเพราะออกกำลังหนักกว่าปกติ

     กล้ามเนื้อของเราเมื่อไม่ได้รับการฝึกอย่างเพียงพอหรือไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อในเวลานานๆ หากอยู่ดีๆ ไปออกกำลังที่หนักกว่าปกติหรือนานกว่าปกติ ก็จะทำให้เกิดตะคริวขึ้นมาได้เช่นกันค่ะ สภาวะการเป็นตะคริวแบบนี้จะสังเกตได้ว่าตะคริวจะเป็นก้อนๆ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะออกกำลังกายแบบหนักๆ หรือนานกว่าเดิม ขอให้เริ่มฝึกซ้อมเสียก่อน โดยเริ่มจากการออกกำลังเบาๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มให้หนักมากขึ้น อย่าเพิ่งใจร้อนออกกำลังแบบหักโหมทันที เพราะจะทำให้เป็นตะคริวได้ค่ะ