กินลิ้นจี่ตอนท้องว่าง อันตรายจริงหรือ ?

หากกำลังสงสัยว่าการกินลิ้นจี่ตอนท้องว่างจะอันตรายถึงตายได้อย่างข้อมูลที่ถูกแชร์กันไหม เราก็มีคำตอบได้คลายใจกันตรงนี้แล้ว


ผลไม้ส่วนมากมักจะให้คุณประโยชน์ที่ดีต่อร่างกาย แต่ก็มีผลไม้บางชนิดเช่นกันที่มีข้อจำกัดในการกินอยู่บ้าง เพราะบางชนิดเป็นผลไม้น้ำตาลสูง ผลไม้กินแล้วอ้วน ก็ว่ากันไป ทว่าข้อมูลที่ทำให้เรา ๆ ตกใจไปกว่านั้นคือมีข่าวและงานวิจัยของต่างประเทศได้อ้างว่า ช่วงของการเก็บเกี่ยวผลไม้ จะพบเด็กอินเดียป่วยและเสียชีวิตจากการกินลิ้นจี่ตอนท้องว่างในทุก ๆ ปี จนก่อให้เกิดข้อข้องใจว่าลิ้นจี่จะเป็นผลไม้ห้ามกินตอนท้องว่าง จริงหรือไม่ งั้นลองมาไขคำตอบพร้อม ๆ กัน โดยมีข้อความตามนี้…

ห้ามกินลิ้นจี่ตอนท้องว่าง…จริงหรือ

ในช่วงปี 2533 ในพื้นที่การเกษตรห่างไกลของเวียดนาม บังกลาเทศ และอินเดีย ได้เกิดปรากฏการณ์ประหลาดขึ้น เพราะเมื่อเข้าใกล้ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลไม้ จะมีเด็กป่วยหรือเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ

เด็กที่ป่วย ตอนเย็นจะยังดูมีอาการปกติ แต่ว่าในตอนเช้าวันถัดมาจะมีอาการซึม สับสน พูดคุยไม่รู้เรื่อง บางคนมีไข้ บางคนชัก แพทย์ที่ทำการตรวจในยุคนั้นพยายามตรวจหาสาเหตุไม่ว่าจะจากเชื้อโรค จากสารเคมี จากสารในผลไม้ แต่ก็ไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน ในปีถัด ๆ มา เกิดเหตุการณ์เดียวกันขึ้นอีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนทุกปีเมื่อถึงช่วงเดือนพฤษภาคม ชาวบ้านก็จะกลัวกันว่าลูกของตนจะกลายเป็นเหยื่อรายต่อไป…

ที่อินเดีย ได้มีการตรวจเรื่องยาฆ่าแมลง เชื้อ แต่ก็ไม่ชัดเจน มีการควบคุมการใช้ยาฆ่าแมลง และในปี 2555 มีการฉีดวัคซีนไข้สมองอักเสบขนานใหญ่ แต่ก็พบว่าเด็ก ๆ ยังป่วยอยู่…ซึ่งทำให้เหลือเหตุผลที่เป็นไปได้อีกตัวหนึ่งคือสารในผลไม้

สารในผลไม้ที่สงสัยกันคือสาร hypoglycin A และ methylenecyclopropylglycine ซึ่งสารทั้งสองชนิดนี้เป็นสารพิษในพืชบางชนิด จะไปยับยั้งการสร้างน้ำตาล ยับยั้งการใช้พลังงานจากกรดไขมัน ทำให้ร่างกายขาดพลังงาน และเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ โดยสารนี้พบในผลไม้จาเมกาที่ชื่อว่าอัคกี และทำให้เกิดโรคที่เรียกว่า โรคอาเจียนจามกา

สำหรับผลไม้ที่อยู่ในตระกูลเดียวกันก็คือ เงาะ ลำไย และลิ้นจี่ ก็มีสารนี้มากน้อยต่าง ๆ กันไป

ห้ามกินตอนท้องว่าง ???

หลังจากปี 2555 เมื่อพบว่าการฉีดวัคซีนก็ไม่ช่วยอะไร เลยมีการพุ่งเป้าไปที่สาร hypoglycin A ในลิ้นจี่…และมีการเก็บข้อมูลกันใหม่ โดยเมื่อมีคนป่วยก็ลองรักษาเสมือนมีภาวะน้ำตาลต่ำและตรวจหาสารนี้ไปเลย

…ปรากฏว่าผลคือพบสารนี้ในเลือดของคนที่ป่วยจริง ๆ และเมื่อตรวจสอบย้อนกลับไป ลองถามดู จะได้ลักษณะที่ตรงกันคือ

          1. เป็นเด็ก

          2. มีภาวะขาดสารอาหาร อาหารการกินไม่ดี อดมื้อกินมื้อ

          3. มักจะมีประวัติว่าหายไปในสวนลิ้นจี่ ไปกินลิ้นจี่ทั้งวันจนอิ่ม และกลับมาโดยทั้งวันไม่กินอาหารหรือไม่กินอาหารเย็น

ทั้งนี้ไม่ได้เกิดกับเด็กทุกคน เพราะเด็กที่ทำแบบเดียวกัน ก็ไม่ได้เป็นก็มี…แต่เนื่องจากหาสาเหตุอื่นไม่เจอ และตรวจเจอสารที่เป็นไปได้ในเลือด ดังนั้นก็เลยสรุปว่าเป็นสารพิษในลิ้นจี่

…แล้วเราจะทำยังไง….

ก็อย่าเพิ่งตื่นตกใจจนเกินไป เพราะว่าเอาเข้าจริง ๆ รายงานชัด ๆ มาจาก 3 แห่งคือ เวียดนาม บังกลาเทศ และอินเดีย เป็นในบางพื้นที่ ไม่ได้เป็นทุกที่ และเป็นเฉพาะในเด็กที่มีภาวะขาดอาหารไม่แข็งแรงอยู่เดิม และเป็นแค่บางคนไม่ได้เป็นทุกคนที่กิน

          1. อย่ากินลิ้นจี่ดิบ : เพราะมีสารพิษที่ว่ามากกว่าผลสุกประมาณ 2-3 เท่า

          2. อย่ากินลิ้นจี่อย่างเดียวทั้งวันแทนอาหาร

          3. อย่าขาดสารอาหาร : ในงานวิจัยบอกว่า อาการนี้พบในเด็กที่ขาดอาหาร ยากจน ซึ่งภาวะขาดอาหารจะทำให้มีพลังงานสำรองในตับลดลง

สรุป

สำหรับคนเป็นเบาหวานที่อยากจะกินลิ้นจี่เป็นยาลดน้ำตาล ก็ขอให้เบรกความคิดไว้ก่อนเพราะว่า

– งานวิจัยพบว่า ลิ้นจี่แต่ละลูกมีสารไม่เท่ากัน (ผลลดน้ำตาลเอาแน่นอนไม่ได้)

– ถ้ากินอาหารไปด้วยน้ำตาลก็อาจไม่ต่ำ

– ในผู้ป่วยบางรายพบภาวะไตวายร่วมด้วย

– ที่สำคัญในลิ้นจี่สุกก็มีน้ำตาล ถ้ากินเป็นล่ำเป็นสันและกินอาหารไปด้วย นอกจากน้ำตาลจะไม่ต่ำ เผลอ ๆ จะได้น้ำตาลสูงแทน

ป.ล. ลำไยกับเงาะก็มีสารนี้ แต่ก็เหมือนกัน อย่าไปกินเพื่อหวังลดน้ำตาล

เอกสารอ่านเพิ่มเติม

1. Association of acute toxic encephalopathy with litchi consumption in an outbreak in Muzaffarpur, India, 2014: a case-control study วารสาร The Lancet

2.Litchi-associated acute encephalitis in children, Northern Vietnam, 2004-2009.

3.Outbreaks of unexplained neurologic illness – Muzaffarpur, India, 2013-2014.

4. Misery of Mystery of Muzaffarpur วารสาร indian pediatric 2014

5. A child-killing toxin emerges from shadows นิตยสาร Science 2015

6. Probable toxic cause for suspected lychee-linked viral encephalitis.

7. Quantification of Toxins in Soapberry (Sapindaceae) Arils: Hypoglycin A and Methylenecyclopropylglycine.

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หมอแมว