อาการเจ็บหน้าแข้งกับการวิ่งมาราธอน (Shin Splint Syndrome)

อาการเจ็บหน้าแข้งกับการวิ่งมาราธอน (Shin Splint Syndrome)

เป็นโรคที่พบได้ในกลุ่มนักวิ่ง ซึ่งสามารถแบ่งสาเหตุการเกิดอาการได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

 

  1. จากอุบัติเหตุ หรือสิ่งกระทบจากภายนอก เช่น แผลฟกช้ำ กล้ามเนื้อฉีก หรือกระดูกหัก ผู้บาดเจ็บมักจำเหตุการณ์ได้ชัดเจน รู้สาเหตุของการเกิดอาการ ทำให้การรักษาไม่ซับซ้อน เพราะสามารถรักษาตามสาเหตุและอาการเป็นหลัก หากรักษาอย่างถูกต้องก็สามารถหายเป็นปกติได้
  1. สาเหตุจากการใช้งานหรือการฝึกที่หักโหม เร่งรัดจนเกินไป จากโครงสร้างร่างกายผิดปกติ จากการใช้อุปกรณ์การวิ่งที่ไม่เหมาะสมในกลุ่มนี้มักมีอาการบาดเจ็บเรื้อรัง เนื่องจากผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ส่วนใหญ่มักมีอาการเจ็บหลังจากใช้งานไปซักระยะหนึ่งแล้ว เมื่อพักแล้วอาการจะดีขึ้น แต่พอกลับมาวิ่ง ก็กลับมาเจ็บอีก ทำให้ไม่สามารถวิ่งได้อย่างเต็มที่ ซึ่งมีอาการที่พบได้บ่อยและน่าสนใจ ได้แก่

Shin splint syndrome คืออาการเจ็บหน้าแข้งจากการวิ่ง อาการเจ็บจะเกิดที่สันหน้าแข้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณหน้าแข้งด้านใน ส่วนใหญ่จะพบบริเวณตอนล่างของกระดูกหน้าแข้ง ซึ่งบริเวณนี้เป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อ Soleus และ Tibialis Posterior ซึ่งควบคุมการบิดข้อเท้าเข้าใน (Inversion) และจิกปลายเท้าลง (Plantar flexion)

สาเหตุของอาการเกิดจากการฝึกที่หักโหม เร่งรัด ทำให้เกิดการใช้งานที่มากเกินไปจนร่างกายทนไม่ได้ คือเมื่อเกิดการกระแทกหรือใช้งานกล้ามเนื้อดังกล่าวซ้ำๆ ทำให้เกิดการบาดเจ็บของเยื่อหุ้มกระดูก ซึ่งเป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อบริเวณนั้น มักพบในคนที่เพิ่งเริ่มวิ่งใหม่ๆ คนที่เร่งการซ้อมมากเกินไป การวิ่งบนพื้นแข็ง หรือใส่รองเท้าที่พื้นรองรับเท้าแข็ง คนที่ชอบวิ่งเขย่งปลายเท้า หรือยกส้นเท้าให้ลอยตลอดเวลา รวมถึงคนที่มีโครงสร้างร่างกายผิดปกติ เช่น เท้าแบน (Flat foot) เท้าคว่ำบิดออกนอก (Excessive or over of pronation)

อาการเจ็บปวดตามแนวสันหน้าแข้งด้านใน จะเพิ่มความรุนแรงขึ้นแบบเป็นค่อยเป็นค่อยไป อาจเกิดขึ้นขณะวิ่งหรือหลังจากหยุดพักแล้วก็ได้ เมื่อกดจะมีอาการเจ็บเป็นบริเวณกว้างตามแนวของกระดูกหน้าแข้ง แต่ไม่มีอาการชา เมื่อมีอาการควรหยุดพักรักษา ไม่ควรฝืนวิ่ง หรือฝึกแบบเดิมอีกต่อไป เพราะอาจทำให้เกิดภาวะบาดเจ็บที่รุนแรงกว่า เช่น กระดูกร้าว ตามมาได้

 

การรักษาเบื้องต้น คือ

  • การพัก
  • การประคบเย็น
  • การใช้ยาต้านการอักเสบชนิดกิน
  • การทำกายภาพบำบัดเพื่อลดการอักเสบ

 

หากโครงสร้างเท้าหรือขาผิดปกติควรเลือกเปลี่ยนรองเท้าเป็นแบบที่เหมาะสมกับโครงสร้างเท้าของตนเอง หรืออาจใช้อุปกรณ์เสริมที่ช่วยลดแรงกระแทกขณะวิ่งร่วมด้วย

เมื่ออาการเจ็บหายแล้ว ควรหันมาบริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรงและยืดหยุ่น โดยเริ่มฝึกด้วยการออกกำลังกายที่ไม่มีการกระแทก เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน Elliptical machine หรือวิ่งในสระน้ำก่อน หากไม่เกิดอาการเจ็บ แล้วจึงค่อยใส่โปรแกรมการวิ่งเข้าไป โดยค่อยๆ เพิ่มระยะทางและความเร็วทีละน้อย แนะนำให้ลองวิ่งบนพื้นนุ่มๆ เช่น สนามหญ้า พื้นยาง หรือ Treadmill ก่อน หากไม่มีอาการเจ็บ จึงค่อยกลับไปวิ่งบนพื้นที่เราคุ้นเคย

การตัดสินใจว่าจะสามารถกลับไปวิ่งระยะไกลได้เมื่อใดนั้น ต้องดูจากอาการ หากอาการเจ็บยังคงเรื้อรัง พักแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีอาการเจ็บมากขึ้นถึงขั้นลงน้ำหนักไม่ได้ อาจเป็นเพราะอาการของกระดูกร้าวแบบสะสม (Stress fracture) ซึ่งควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจรักษาขั้นต่อไป

นอกจากนี้ หากวิ่งแล้วมีอาการชาที่ขาหรือเท้า เมื่อขยับนิ้วเท้าแล้วปวดขาอย่างรุนแรง อาจเป็นอาการของเส้นประสาทขาถูกกดทับเนื่องจากความดันในช่องกล้ามเนื้อสูงผิดปกติ หากมีอาการเหล่านี้ ท่านต้องรีบพบแพทย์ทันที หากปล่อยไว้จนกล้ามเนื้อและเส้นประสาทขาดเลือด ท่านอาจต้องสูญเสียอวัยวะ และไม่สามารถวิ่งได้อีกต่อไป