ส่อง 5 เทรนด์อาหารมาแรงแห่งปี 2020
ปี 2020 ที่จะถึง ใครลิสต์ New Year’s resolutions อยากเปลี่ยนแปลงตัวเองเรื่องสุขภาพ สิ่งหนึ่งที่ต้องรู้นอกเหนือจากเทรนด์การออกกำลังกาย ก็คือเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งจากข้อมูลในงาน Fi Asia 2019 หรือฟู้ดอินกรีเดียนท์ เอเชีย 2019 งานใหญ่แห่งวงการอาหารระดับภูมิภาคเอเชีย ได้รายงานอัพเดทเทรนด์อาหารแห่งอนาคตในปี 2020 ไว้ดังนี้
1.อาหารสำหรับโภชนาการเฉพาะบุคคล (Personalized Nutrition)
เป็นอาหารที่คำนึงถึงข้อมูลส่วนบุคคล เพศ วัย ระดับกิจกรรมการใช้ชีวิต อัตราการเปลี่ยนแปลงกลูโคสในหลอดเลือดหลังการบริโภคอาหาร อาหารที่ชอบ รูปแบบการออกกำลังกายที่ชอบ และเป้าหมายด้านโภชนาการ เช่น เพื่อลดน้ำหนัก เพิ่มน้ำหนัก รักษาน้ำหนัก หรืออื่น ๆ รวมถึงโรคประจำตัวต่างๆ ซึ่งอาจจะต้องลดความหวาน เค็ม มัน เสริมโปรตีน เสริมแคลเซียมเฉพาะตามแต่ความต้องการ หรือขาดเหลือของแต่ละบุคคล
2.อาหารพร้อมทานที่มี 5 ปัจจัยหลักเพื่อสุขภาพ
ด้วยภาวะความเร่งรีบในสังคมยุคดิจิตัลที่มีการแข่งขันกันสูง อาหารพร้อมทานจะเป็นปัจจัยที่ตอบโจทย์ได้ดีที่สุด และต้องเป็นอาหารพร้อมทานที่คำนึงถึง 5 ปัจจัยหลักเพื่อสุขภาพด้วย คือ มีปริมาณน้ำตาลที่น้อย มีไขมันอิ่มตัวต่ำ ไขมันรวมต่ำ มีใยอาหารสูง และมีโปรตีนในปริมาณที่เพียงพอ
3.ลดน้ำตาล ใช้ความหวานจากธรรมชาติ
เมื่อทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงผลกระทบและโรคร้ายที่มากับความหวานในน้ำตาล นวัตกรรม และเทคโนโลยีทางอาหารจะเข้ามามีบทบาทในการมองหาแหล่งความหวานทางเลือกใหม่ที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งในช่วงปี 2019 กระแสความนิยมหันมาเลือกใช้หญ้าหวานสกัด (สตีเวีย) เริ่มกลับมาอีกครั้ง ทั้งในอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเชือว่าในปี 2020 กระแสลดน้ำตาลแทนที่ด้วยความหวานจากธรรมชาติก็จะยังคงได้รับการตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่อง
4.เครื่องดื่มพลัสคุณค่า บำรุงสมอง ลำไส้ และผิว
ปัจจุบันมีเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเจ้าใหม่ ๆ เปิดตัวเข้าสู่ตลาดมากมาย ซึ่งนอกจากรสชาติความอร่อยแล้ว การคำนึงถึงการใส่ใจสุขภาพก็เป็นสิ่งสำคัญ และเทรนด์ที่กำลังนิยมกันในช่วงนี้ก็คือการเพิ่มส่วนผสมบำรุงสมองและระบบประสาท รวมถึงการเติมใยอาหาร หรือสารอาหารที่ช่วยในการดูแลระบบลำไส้ เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่บริโภคผักและผลไม้น้อย โดยที่ไม่ลืมในเรื่องของการดูแลผิวพรรณด้วย เรียกได้ตอบโจทย์ครบในครั้งเดียว
5.โปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์และโปรตีนสายพันธุ์ใหม่
มีการประมาณการว่าในปี 2562 มูลค่าการตลาดอาหารโดยเฉพาะกลุ่มประเภทโปรตีนจากพืชและนมพืชจะเติบโตขึ้น มีแนวโน้มขยายตัว 6.4% ตามความนิยมบริโภคอาหารโปรตีนสูงเพื่อสร้างสมดุลทางโภชนาการทดแทนเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น โปรตีนจากพืชตระกูลถั่ว เห็ด และสาหร่าย รวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากพืชเมล็ดถั่ว ตลอดจนโปรตีนจากการหมักเชื้อจุลินทรีย์