วิธีรับมือฝุ่น PM 2.5 อย่ารอช้า ทุกคนช่วยได้!
ปัจจุบัน ปัญหาฝุ่นละอองเป็นพิษ หรือที่เรียกกันว่า “ฝุ่น PM 2.5” ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล กลายเป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่หลีกเลี่ยงได้ยาก
แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่เข้าใจผิดว่า ท้องฟ้าสีหม่นที่เห็นในยามเช้าเกิดจากหมอกควัน ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว สิ่งนั้นคือการรวมตัวกันของมลพิษทางอากาศที่สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานต่างหาก และยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพอีกด้วย
ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร?
คำว่า PM (พีเอ็ม) ย่อมาจาก Particulate Matters (พาร์ทิคิวเลทแมทเทอร์) เป็นคำเรียกค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มีหน่วยวัดคือ ไมครอน หรือไมโครเมตร แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ PM 10 และ PM 2.5
โดยฝุ่น PM 2.5 เป็นอนุภาคขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร แขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซต่างๆ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่เมื่อมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมหาศาลจะมองเห็นเป็นหมอกควันอย่างที่เราเห็นกันในทุกๆ เช้านั่นเอง
ฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นมลพิษต่อสุขภาพของมนุษย์ตามที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญ และออกมาแจ้งเตือนให้ทราบ เพราะเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กมาก (เล็กกว่าเส้นผมถึง 20 เท่า) เมื่อหายใจเขาไปแล้ว สามารถเล็ดลอดผ่านขนจมูกเข้าสู่ปอดและหลอดเลือดได้ง่าย จนส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว
ข้อแนะนำและวิธีป้องกันตนเองจากฝุ่น PM 2.5
• เลี่ยงการทำอาหารด้วยเตาถ่าน
การทำอาหารประเภทปิ้ง-ย่างด้วยเตาถ่าน จะก่อให้เกิดควัน นำมาซึ่งฝุ่นละอองขนาดเล็กเช่นกัน เพราะฉะนั้นในช่วงที่มลพิษครองเมือง ถ้าลดการใช้เตาถ่านได้ ก็งดไปก่อนนะคะ
• หยุดการเผาในที่โล่ง
ฝุ่น PM2.5 กว่า 35% เกิดจากการเผาไหม้ในที่โล่ง ไม่ว่าจะเป็นเผาใบไม้ เผาเศษขยะตามพงหญ้า เผาไร่นา เผาป่าเพื่อเตรียมพื้นที่ทำเกษตรกรรม หรือควันเสียที่ลอยมาจากโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้เกิดก๊าซพิษและฝุ่นละอองมากมาย โดยเฉพาะในช่วงที่มลพิษทางอากาศสูงมาก ๆ ต้องหยุดการเผาเด็ดขาด เพราะจะยิ่งซ้ำเติมให้สภาพอากาศเลวร้ายลงไปอีก
• งดสูบบุหรี่
ทุกครั้งที่มีการสูบบุหรี่ ควันพิษและสารพิษจำนวนมหาศาลจะลอยอยู่ในอากาศ และเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดละอองสารเคมีขนาดเล็ก ๆ ขณะที่ก๊าซชนิดต่าง ๆ ที่ถูกปล่อยออกมาพร้อมกัน เมื่อมีการเผาไหม้ยังจะก่อให้เกิดสารต่าง ๆ อีกกว่า 4,000 ชนิด ซึ่งล้วนแต่เป็นสารพิษที่ทำให้อากาศปนเปื้อน
• ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล
รู้ไหมว่า สาเหตุอันดับ 1 กว่าร้อยละ 50-60 ที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กมาจากการขับขี่ยวดยานพาหนะบนท้องถนน เนื่องจากเมื่อยางรถยนต์เสียดสีกับพื้นถนนซึ่งเป็นยางมะตอยจะทำให้เกิดฝุ่นขึ้น อีกทั้งรถยนต์ยังปล่อยควันจากท่อไอเสียให้ออกมาลอยสู่ชั้นบรรยากาศ เราจึงสังเกตเห็นว่ายิ่งบริเวณไหนมีการจราจรติดขัดมาก ๆ อากาศบริเวณนั้นจะยิ่งขมุกขมัวไปด้วยฝุ่นละอองขนาดเล็ก
แต่ถ้าเราลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวลงบ้าง แล้วหันมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะแทน หรือถ้าใครไปทางเดียวกันก็นั่งคันเดียวกัน และใช้รถส่วนตัวในกรณีที่จำเป็น จะช่วยลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนนได้มาก และทำให้ฝุ่นละอองต่าง ๆ ลดน้อยลงด้วย
ท้ายสุด ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่จำเป็นต้องออกข้างนอกบ้าน หรือที่โล่งแจ้ง
แนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยชนิดที่เรียกว่า “เอ็นเก้าห้า (N95)” โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ หรือโรคหัวใจเรื้อรัง เพราะสามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ดี