9 เรื่องเล่าพระราชอารมณ์ขันของในหลวงรัชกาลที่ 9

เรื่องเล่าพระราชอารมณ์ขัน 1: หมอความ หมอยา และหมอ…

ครั้งหนึ่งที่ได้มีการทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางนิติศาสตร์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งกับมหาดเล็กใกล้ชิดว่า “ฉันได้เป็นหมอความแล้ว”

ต่อมาเมื่อมีการทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางการแพทย์ พระองค์ก็รับสั่งอีกว่า “คราวนี้ฉันได้เป็นหมอยา”

หลังจากนั้นได้ไม่นานก็มีการทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางการดนตรี พระองค์จึงรับสั่งว่า “คราวนี้เป็นหมอลำ”

 

เรื่องเล่าพระราชอารมณ์ขัน 2: “เพื่อน 63 คนของฉัน”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงคุ้นเคยกับ ‘บ็อบ โฮป’ (Bob Hope) ดาราฮอลลีวูดชื่อดังในอดีตเป็นอย่างดี นับตั้งแต่ที่ดาราผู้นี้เคยแวะมาที่กรุงเทพฯ ก่อนไปเปิดการแสดงกล่อมขวัญทหารอเมริกันในเวียดนาม เพราะมีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ที่วังสวนจิตรลดา โดยโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงดินเนอร์

บ็อบได้กราบบังคมทูลพระองค์ว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอพาเพื่อนไปด้วย”

พระองค์รับสั่งตอบว่า “ได้เลย ไม่ขัดข้อง พาเพื่อนของคุณมาได้เลย”

เมื่อบ็อบได้ยินดังนั้นจึงกราบบังคมทูลว่า “ต้องขอบพระราชหฤทัยแทนเพื่อน 63 คนของข้าพระพุทธเจ้าด้วย”

คืนนั้นดาราชายได้นำวงดนตรีของตนเข้าไปเล่นถวายในวังสวนจิตรลดาจนดึก จึงกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ที่บ้านพักของตัวเอง

ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงรับสั่งว่า “ยินดี ฉันพาเพื่อน 63 คนของฉันไปด้วยนะ?”

บ็อบกราบบังคมทูลด้วยเสียงอ่อยๆ ว่า “คิดด้วยเกล้าฯ ว่าตกลงพ่ะย่ะค่ะ”

เรื่องเล่าพระราชอารมณ์ขัน 3: ปริญญาบัตรหนัก 230 กิโลกรัม

หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เคยเล่าให้นายวิลาศฟังว่า ปีหนึ่งที่วิทยาลัยประสานมิตร (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร) เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานปริญญาบัตรเสร็จ ก็มีพระราชปุจฉากับหม่อมหลวงปิ่นว่า

“วันนี้ฉันได้ให้ปริญญาบัตรไปกี่กิโล?”

เมื่อได้ยินเช่นนั้น หม่อมหลวงปิ่นก็อึกอัก เพราะไม่ได้ให้ปลัดกระทรวงหรืออธิบดีชั่งน้ำหนักปริญญาบัตรไว้ก่อนล่วงหน้า

แต่ในปีต่อมา อธิบดีของวิทยาลัยได้เตรียมพร้อมชั่งน้ำหนักปริญญาบัตรทั้งหมดไว้ล่วงหน้าก่อนเป็นที่เรียบร้อย หม่อมหลวงปิ่นจึงกราบบังคมทูลพระองค์ว่า

“วันนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานปริญญาบัตรไปจำนวนทั้งหมด 230 กิโลกรัม”

ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงพระราชปุจฉากับหม่อมหลวงปิ่นว่า

“ฉันจะต้องได้อาหารสักกี่แคลอรี จึงจะพอชดเชยกับแรงงานที่ได้เสียไป?”

เรื่องเล่าพระราชอารมณ์ขัน 4: มะขามป้อมกับภูเขา

ครั้งหนึ่งหลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ปีนขึ้นไปบนสันเขาลูกใหญ่ลูกหนึ่ง มีผู้กราบบังคมทูลถามพระองค์ว่า ภูเขาลูกใหญ่ที่ปีนเมื่อวานซืนกับภูเขาลูกนี้ ลูกใดสูงกว่ากัน?

พระองค์จึงตรัสตอบว่า “ลูกวานซืนนี้สูงกว่า เพราะฉันเคี้ยวมะขามป้อมถึง 5 ลูกกว่าจะถึงยอด แต่วันนี้เคี้ยวมะขามป้อมไปเพียงแค่ 3 ลูกเท่านั้น”

เรื่องเล่าพระราชอารมณ์ขัน 5: การแพทย์แบบโบราณ ไม่ต้องถวายพระโอสถ

นานมาแล้วในระหว่างที่ถวายการรักษา คณะแพทย์จำเป็นต้องเจาะพระโลหิตของพระองค์เกือบทุกวัน วันละ 50 ซีซี ไปจนถึง 100 ซีซี

ถึงแม้ว่าในขณะนั้นพระองค์จะทรงพระประชวรอยู่ แต่ก็ยังมีอารมณ์แจ่มใส ทรงล้อเลียนคณะแพทย์เมื่อพระอาการทุเลาลงแล้ว โดยรับสั่งว่า

“คณะกรรมการแพทย์ชุดนี้รักษาพระอาการแบบโบราณโดยไม่ถวายพระโอสถเลย แต่ใช้วิธีสูบเลือดออก”

 

เรื่องเล่าพระราชอารมณ์ขัน 6: เมื่อทรงต้องไกล่เกลี่ยปัญหาครอบครัว

ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎรทุกหนแห่ง และทรงงานอย่างหนักตรากตรำไม่ว่างเว้น

ครั้งหนึ่งพระองค์ต้องทรงทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยปัญหาครอบครัว หลังชาวเขาคนหนึ่งได้เข้ามากราบบังคมทูลร้องทุกข์ว่าตนได้ให้หมู 2 ตัวพร้อมกับเงิน 1 ก้อนแก่ภรรยา แต่เธอไม่ไยดีและหนีตามชู้ไป

พระองค์ทรงตัดสินว่าผู้เป็นสามีจะต้องได้รับเงินชดใช้และต้องปล่อยภรรยาไปตามทางของเธอ

ทรงรับสั่งด้วยพระราชอารมณ์ขันและพระสรวลว่า “แต่ที่แย่ก็คือฉันต้องควักเงินให้ไป ผู้หญิงผู้นั้นก็เลยต้องเป็นของฉัน”

ไม่นานนักหลังจากที่ไกล่เกลี่ยเจรจาจนสำเร็จ ผู้หญิงคนเดิมก็นำสุราพื้นเมืองมาถวาย

พระองค์จึงตรัสว่า “ถ้าฉันเมาพับไป อะไรจะเกิดขึ้นก็รู้ไม่ได้”

 

เรื่องเล่าพระราชอารมณ์ขัน 7: เรือปลาดุก

ประชาชนทั้งหลายต่างก็ทราบโดยทั่วกันว่ากีฬาที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 โปรดมากที่สุดคือ ‘กีฬาเรือใบ’

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปี พ.ศ. 2509 ดยุกแห่งเอดินบะระ (Edinburgh) ประจำสหราชอาณาจักร ได้ส่งเรือใบชนิดกินน้ำตื้น (Catamaran) มาถวาย

เมื่อได้รับเรือ พระองค์ก็ทรงตั้งชื่อมันว่า ‘ปลาดุก’ ซึ่งเป็นการเล่นคำ เพราะปลาดุกในภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘Cat Fish’ ซึ่ง Cat ก็มาจากเรือ Catamaran

ส่วนดุกก็พ้องเสียงมาจากคำว่า ดุ๊ก หรือ ดยุก นั่นเอง

 

เรื่องเล่าพระราชอารมณ์ขัน 8: ทรงพระเจริญและพระอาการหลับใน

นายวิลาศได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ท่านหนึ่งที่สำเร็จการศึกษามาจากวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร รุ่น 2512 ซึ่งอาจารย์ท่านดังกล่าวได้เล่าให้เขาฟังว่า กลางเดือนปีนั้นตนโชคดีมากๆ ที่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในวันงานการศึกษาสัมพันธ์ เพราะรู้สึกว่าพระองค์ทรงพระสำราญมาก

เมื่อนายวิลาศได้ยินเข้าจึงไม่รอช้า รีบไปค้นหาหนังสือประจำปีที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตรทันที ก่อนจะพบพระราชดำรัสในวันนั้นซึ่งเปี่ยมไปด้วยพระราชอารมณ์ขัน

ตอนหนึ่งของพระราชดำรัสงานการศึกษาสัมพันธ์ของวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร พ.ศ. 2512 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตรัสว่า

“คราวนี้มีนาฬิกาแล้ว จะได้รู้เวลา นับไปนับมา แจกไปแจกมา (ทรงเป็นประธานแจกปริญญา) ครั้งที่แล้วมีคนหนึ่งที่ทำให้เราตกใจ เขาเดินเข้ามารับปริญญาแล้วร้องว่า ‘ทรงพระเจริญ’ ความจริงตอนนั้นก็กำลังหลับอยู่ จึงตกใจตื่น

(พิธีแจกปริญญาครั้งที่แล้ว พระองค์ทรงเข้ารับการรักษาด้วยการถอนฟันก่อนเสด็จฯ เป็นประธานในพิธี) “การแจกปริญญานั้นเป็นเทคนิคที่สูงมาก ถ้าเปรียบเทียบคนกับเครื่องยนต์กลไก เราเสียเปรียบ เพราะปิดเครื่องไม่ได้ แต่บังเอิญตอนนั้นการแจกปริญญาก็ส่วนแจกปริญญา ส่วนปวดฟันก็ส่วนปวดฟัน ส่วนหลับในก็ส่วนหลับใน

“เมื่อมีเสียงเขาบอกว่าทรงพระเจริญ เราก็ต้องตกใจตื่นทั้งตัว แต่หลังจากตกใจตื่นขึ้นมา อาการปวดฟันก็หายไป นี่พูดตามวิสัยของนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัย รู้สึกว่าตัวเองกระปรี้กระเปร่าที่จะแจกปริญญาต่อไป ทำด้วยความรู้สึกตัวด้วย แล้วก็ทำให้เรามีกำลังใจ

“ที่เขาบอก ‘ทรงพระเจริญ’ เพราะเขาทำด้วยความตั้งใจดีและความตื่นเต้น แต่ว่าทำให้เกิดผลดี ทำให้เรารู้สึกว่าเขาเอาใจช่วย อย่างงานอื่นๆ ก็เข้าใจว่าเหมือนกัน เวลาเราเหนื่อย ถ้ารู้ว่ามีคนที่เอาใจช่วย เห็นใจ และพยายามทุกอย่างที่จะทำให้งานทั้งปวงลุล่วงไปด้วยดี มันก็เป็นการสนับสนุนแล้วก็เป็นการดีสำหรับส่วนรวม เพราะว่างานก็ลุล่วงไปด้วยดี ลงท้ายก็ปรากฏว่างานแจกปริญญาครั้งนั้นก็ลุล่วงไปโดยดี”

เรื่องเล่าพระราชอารมณ์ขัน 9: “ในฐานะที่เป็นพ่อก็ขอมาอวดหน่อย”

ในวันเดียวกันนี้ (วันงานการศึกษาสัมพันธ์ พ.ศ. 2512) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จฯ มาเป็นประธานพิธีด้วยตัวพระองค์เองแต่เพียงผู้เดียว พระองค์จึงมีพระราชดำรัสถึงสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 พระราชธิดา และพระราชโอรสความว่า

“วันนี้มาคนเดียว เพราะผู้ที่จะมาด้วยมีอันเป็น…

“พูดถึงลูกก่อน เพราะว่าเขาเป็นคนที่อยู่ไกลที่สุด ก็ทราบดีแล้วว่าเขากำลังเรียนอยู่ต่างประเทศ คนหนึ่งที่อเมริกา อีกคนหนึ่งที่อังกฤษ ก็ไม่ได้มา เสียใจ… เพราะว่าค่าเครื่องบินแพง แล้วก็ไม่เป็นการประหยัดอีกด้วย แต่ก็ไม่เป็นไร ได้ข่าวดีว่าสอบได้คะแนนที่สหรัฐอเมริกาดี ฟิสิกส์ได้ A+ ส่วนแคลคูลัสได้ A ในฐานะที่เป็นพ่อก็ขอมาอวดหน่อย

“เขา (ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี) เขียนจดหมายมาบอกว่า “ลูกทำอย่างนี้แล้วขอให้พ่อสนับสนุนให้เข้าเอ็ม.ไอ.ที. ให้ได้ หรือว่าขออนุญาตเข้าเอ็ม.ไอ.ที. (สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์: Massachusetts Institute of Technology) ถ้าเขาทำคะแนนได้ดีอย่างนี้ก็ไม่ต้องสนับสนุน เขาก็เข้าไปได้แล้วก็คงได้ผลดี ก็ขอเพิ่มเติมคำว่า ‘ในฐานะที่เป็นพ่อ’ เพราะว่าพูดไปเฉยๆ เดี๋ยวจะหาว่าโอ้อวดว่าทำอะไรๆ อย่างนั้นอย่างนี้ เป็นความภาคภูมิใจแท้ พ่อทุกคนเขาก็มีสิทธิ์จะภูมิใจลูกของเขาใช่ไหม

“คราวนี้สำหรับลูกชาย (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร) ก็ได้ข่าวดีเหมือนกัน ก่อนนี้ก็ออกจะเหมือนเด็กผู้ชายทั่วไป ก็ขี้เกียจที่จะเรียน แต่เดี๋ยวนี้ขะมักเขม้น มีหวังกลับมาในเดือนกรกฎาคมนี้ มีหวังกลับมาพร้อมเอาตัวหนังสือ ‘โอ’ (O) มาให้ หมายความว่าได้สอบ O. Level Mark เป็นผลสำเร็จ (O. Level Mark เป็นหลักสูตรการสอบจากประเทศอังกฤษที่สามารถนำไปใช้ยื่นสมัคร Pre-University ได้) ก็มีหวังอย่างมาก สำหรับผู้ที่อยู่ไกล 2 คนก็มีคำอธิบายแล้วว่าทำไมไม่มา

“สำหรับคนที่อยู่ใกล้ เข้าใจว่าเป็นพระราชินีที่ไม่ได้มา แต่ก็ขอฝากความระลึกมาด้วย ที่มาไม่ได้เพราะเหตุว่าไม่สบายจากลูกที่ไม่สบาย ก็ไม่สบายด้วยตนเองด้วย ไม่ได้โทษลูก แต่ว่าไม่สบายด้วยลูกด้วย เพราะว่าลูกคนที่ 3 (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี) ก็คงอ่านหนังสือพิมพ์ที่เป็นประกาศของคณะกรมการแพทย์แล้วคงทราบดีว่าเป็นอย่างไร

“เมื่อเช้านี้ออกแถลงว่าได้ทำการผ่าตัด ในระยะ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาก็เรียบร้อยดี แล้วเมื่อเช้านี้ตามประกาศว่าลุกขึ้นนั่งได้ พูดได้ แจ่มใสดี แต่ว่าข้อนี้ไม่ได้โทษหนังสือพิมพ์เลย แต่ประกาศเขาว่าอย่างนี้ แล้วพ่อก็เซ่อ (ตรัสถึงพระองค์เอง) นึกว่าเขาพูดได้ ก็เข้าไปหาแล้วบอกว่า ‘ลูกสบายดีรึ บ่ายนี้จะไปวิทยาลัยประสานมิตรไหม ไปแล้วจะร้องเพลงอะไร?’ เขาบอกว่า… (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีมิได้ตรัสตอบ) สุดท้ายก็ไม่ได้มา แต่ตามข่าวหนังสือพิมพ์ที่บอกว่าพูดได้แล้วนี่เชื่อไม่ได้ จะโทษใคร เดี๋ยวตำรวจจับ ก็เป็นอันว่าคนที่ 3 มาไม่ได้ แต่ป่านนี้คงพูดจ้อแล้ว

“ลูกคนที่ 4 นั้น (สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี) เมื่อวานซืนลูกคนที่ 3 จะผ่าตัด ก็ต้องให้ยา แต่ก็แพ้ยา ทำให้นอนไม่หลับ อาเจียนตลอดทั้งคืน ลูกคนที่ 4 เลยสงสารพี่ ก็มาบริการ เท่ากับว่าไม่ได้นอนเหมือนกัน จึงระงับการมาประสานมิตร ตกลงผู้ที่เป็นมารดาจึงไม่มา”

เรื่องราวเบื้องต้นคือพระราชอารมณ์ขันของพระองค์ แต่เมื่อถามถึงเหตุการณ์ที่ทำให้พระองค์ทรงมีความสุขได้นั้น ครั้งหนึ่งสมัยที่นายเดนิส เกรย์ นักเขียนจากนิตยสาร สวัสดี ของการบินไทยได้กราบบังคมทูลถามในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท คิดว่าวันที่ทรงมีความสุขที่สุดคือวันไหน?”

พระองค์ตรัสตอบสั้นๆ ว่า “บาเจาะ” และทำให้ทุกคนงุนงงไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อน

แล้วทำไมต้องบาเจาะ?

เมื่อต้น พ.ศ. 2516 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จฯ ไปแถวนั้นเป็นครั้งแรก และทรงชี้แนะให้ขุดคลองเพื่อระบายน้ำออกสู่ทะเล พอถึงเดือนธันวาคม คลองก็เสร็จเรียบร้อย

ถัดมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2517 วันหนึ่งขณะที่กำลังประทับอยู่ที่เชียงใหม่ อธิบดีกรมชลประทานที่เคยตามเสด็จฯ ลงไปทางใต้ด้วยได้กระหืดกระหอบเข้ามาเฝ้าฯ ทั้งๆ ที่ตัวกำลังเปียกฝน พร้อมตะโกนด้วยความดีใจว่า “ได้ผลแล้ว! ได้ผลแล้ว!”

รับสั่งถามว่า “ได้ผลอะไร”

อธีบดีคนดังกราบบังคมทูลว่า “บาเจาะพ่ะย่ะค่ะ! ได้ผลดีมาก…ชาวบ้านกำลังดีใจกันยกใหญ่”

สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นว่าความสุขของพระองค์ก็คือการได้เห็นประชาชนมีความสุขนั่นเอง

 

หมายเหตุ

พระราชอารมณ์ขัน เป็นชื่อหนังสือที่รวบรวมพระราชดำรัสและพระราชอารมณ์ขันของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมัยที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินทรงงานและเยี่ยมเยือนราษฎรตามที่ต่างๆ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2539 โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า เนื่องในวโรกาสที่พระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 50 ปี ก่อนได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและตีพิมพ์ซ้ำอยู่หลายครั้งในเวลาต่อมา

โดยเป็นผลงานการเขียนของ ‘วิลาศ มณีวัต’ นักเขียนชื่อดังผู้ล่วงลับ เจ้าของวรรณกรรมและงานเขียนเชิงสารคดีที่มีผลงานโดดเด่นเป็นจำนวนมาก เช่น อารมณ์ขันของสมเด็จพระเทพฯ,​ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับ “คุณๆ” สี่ขา,​ อารมณ์ขันของหลวงพ่อคูณ,​ โฉมหน้าอันแท้จริงของญี่ปุ่น, นางบาป ฯลฯ