เรื่องราวความประทับใจ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10” ที่มีต่อ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ”

สายใยของความรัก อันแสนอบอุ่น ของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ที่มีต่อ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชมารดา ทำให้เหล่าพสกนิกร ที่เห็นต่างพากันชื่นชม WE Fitness Society ขออาสา รวบรวมภาพอันแสนประทับใจ ของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10  ที่มีต่อ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาให้ทุกท่านได้ชมกัน

 

ภาพประทับที่มีการเผยแพร่ต่อเป็นจำนวนมากที่สุดภาพหนึ่ง คือเมื่อครั้งที่พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เดือนมิถุนายน พ.ศ.2549 ในระหว่างที่ทรงต้อนรับพระราชอาคันตุกะในงานพระราชทานเลี้ยง โอกาสที่นายจอร์จ ดับเบิล ยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (ขณะนั้น) และภริยา ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงดูแลฉลองพระองค์ถวาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นแบบอย่างของการดูแลซึ่งกันและกันของพ่อ-ลูก ในวันที่ทรงเจริญพระชนมมายุมากขึ้น เฉกเช่นเดียวกับเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ยังทรงพระเยาว์นั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นผู้จัดฉลองพระองค์ให้พระราชโอรสด้วยพระองค์เอง

ขับร้อง “ลาวดวงเดือน” ถวาย “สมเด็จแม่”

การทรงดนตรีเป็นส่วนพระองค์ในพระราชฐานนั้นมีเป็นครั้งคราว ก็จะทรงรับแขกเป็นการส่วนพระองค์ที่พระตำหนักเรือนต้นในบริเวณสวนจิตรลดา มีครั้งหนึ่งซึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จลงเสวยตอนค่ำ เป็นการเลี้ยงต้อนรับ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรฯ เสด็จกลับจากการศึกษาที่ประเทศออสเตรเลีย

วันนั้นตรงกับวันดนตรีไทยอุดมศึกษาที่จังหวัดเชียงใหม่ นักเรียนและครูด้านดนตรีต่างก็ขึ้นไปจังหวัดเชียงใหม่กันหมด ต้องตามนักเรียนนายเรือมาบรรเลงแทน ครูยรรยง แดงกูร และ ศ.เกียรติคุณ นพ.พูนพิศ อมาตยกุล ก็ถูกตามเข้าไปช่วยกะทันหัน โดยมี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงซออู้ ครูยรรยง สีซอด้วง เป็นวงมโหรีที่ไม่เรียบร้อยนัก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็มีพระราชประสงค์ทรงฟังเพลง “ลาวดวงเดือน” ซึ่งเป็นเพลงที่ทรงโปรดมากรับสั่งกับ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรฯ ว่า “ชายร้องเพลงดาวดวงเดือนให้แม่ฟังหน่อย ร้องแบบที่แม่ชอบนะ แม่น้อยบรรเลงเพลงเข้า แล้วให้น้องเล็กฟ้อนด้วยนะ ….”

ศ.เกียรติคุณ นพ.พูนพิศ อมาตยกุล นั่งอยู่หน้าวงดนตรี ได้ยินชัดทุกองค์ที่รับสั่ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรฯ ก็เสด็จมาประทับหน้าวงดนตรี รับสั่งเบาๆว่า “คอยบอกเนื้อร้องด้วย จำได้ไม่หมด เนื้อยาวตั้งหลายท่อน” และทรงร้อง 2 เที่ยวกลับ ตามแบบของกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ขนานแท้

ทรงอุ้ม “สมเด็จแม่” เพื่อไม่ให้เปียกกลางป่าพรุ

อีกหนึ่งเรื่องราวสุดซึ้ง เมื่อครั้ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงพระราชกรณียกิจกับ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นเรื่องเล่าจากข้าราชบริพาร หนึ่งในผู้ที่เคยเข้าถวายงานในฐานะช่างภาพ ที่เคยติดตามพระองค์ทั้งสอง ได้เผยแพร่ภาพผ่านเฟซบุ๊กชื่อ Napan Sevikul (ผู้ที่เคยเข้าถวายงานในฐานะช่างภาพ) พร้อมด้วยเรื่องเล่า ว่า

“ตามเสด็จฯ มีสนุกบ้างไหม? ถ้า “มีความสุข” ละก็ ตอบเลย ว่าทุกเวลานาที แต่ถ้าสนุก ซึ่งมักเป็นประสบการณ์ที่จดจำไม่มีวันลืม ก็มีอยู่บ้างเหมือนกัน เช่น บ่ายวันหนึ่ง มีขบวนสมเด็จพระนางเจ้าฯ ตามหมายว่าเสด็จฯพระองค์เดียว โดยผู้ติดตามขบวน ได้การบอกเล่าแล้วว่า “เปียก” เพราะ “จะเสด็จฯ ตรวจป่า” (มีพระราชประสงค์ไปทอดพระเนตรพันธุ์ไม้แปลกๆ ในป่าพรุ เช่น หมากแดง หมากช้างร้อง หลาวชะโอน เฉพาะอย่างยิ่งย่านลิเพา)

เปียกก็คือเปียก ..เปียกอยู่บ่อยๆ จนเป็นเรื่องปกติของเมือง “ฝนแปด ..แดดสี่” อย่างนราธิวาส (คิดเอง) แต่ “เปียก” วันนั้น ไม่เหมือนวันอื่น และ “เสด็จฯ ตรวจป่า” ก็ไม่ใช่ป่าเขาตันหยง หลังพระตำหนัก แต่เป็น “ป่าพรุ” ที่จนถึงวันนี้ ก็ไม่แน่ใจว่าพรุไหน? แต่เส้นทาง มีแต่การลุยน้ำตั้งแต่ระดับเข่า ..ไปจนถึงระดับคอ ขบวนรถ แล่นไปถึงขอบพรุ ก็ลงเดิน ย่ำน้ำ .. เสียงคุยกันแต่แรกก็ชักจะเงียบ เพราะป่าพรุนั้น เดินเข้าไปก้าวเดียว แสงก็มืดแล้ว ..?

เสียงตบยุง เสียงตีแมลง ดังขึ้นเป็นระยะๆ .. เช่นเดียวกับความลึกของน้ำ ที่มีน้ำใสก็แต่ผิวๆ ต่ำลงไปศอกเดียวก็เป็นโคลนเหนียวหนึบที่เกิดจากการทับถมของใบไม้นับร้อย นับพันปี .. เสื้อผ้า เริ่มเปียก เสียงหัวเราะ มีเป็นครั้งคราว เพราะหลายคน เริ่มสูญเสียรองเท้าไปกับเลน ที่ชักขึ้นมาได้แต่เท้าเปล่า ไปได้สักพัก ก็เปียกปอนกันถ้วนทั่วทุกคน ผู้ที่วางแผนดีก็อาจจะเปียกน้อยหน่อย เพราะไต่เอาตามต้นไม้ล้มที่มีเป็นระยะๆ .. แต่ก็ไม่ค่อยรอดหรอก .. เพราะบางทีก็เห็นลื่นลงน้ำไปทั้งตัว

เจ้านาย ก็เปียกเท่าข้าราชบริพารนั่นแหละ แต่สมเด็จพระนางเจ้าฯ รับสั่งอย่างภาคภูมิใจว่า พระองค์ท่าน เปียกน้อยกว่าคนอื่นๆ เพราะ “องครักษ์ประจำตัวฉัน ไม่ยอมให้ฉันเปียกเลย ..ตรงไหนน้ำลึกๆ ก็ยกฉันจนตัวลอยพ้นน้ำเลย” (องครักษ์ประจำพระองค์ : ทรงหมายถึง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่โดยเสด็จพระราชดำเนินในวันนั้น)

3-4 ชั่วโมงในป่าพรุ เต็มไปด้วยเสียงย่ำน้ำ เสียงหายใจหอบ (ของตัวเอง) และเสียงหัวเราะดังขึ้นเป็น ระยะๆ เมื่อคนใดคนหนึ่งในคณะ ก้าวพลาดลงไปในน้ำที่กะความลึกไม่ได้ (เสียงหัวเราะจะดังเป็นพิเศษ เมื่อมีใครจมน้ำลงไปในระดับเกือบศีรษะ) ช่างภาพตามเสด็จฯ เอาชีวิตรอดกลับมาได้ พร้อมกล้องแห้งๆ แต่เสื้อผ้าสีน้ำตาลที่ใส่ไปวันนั้นหลายเป็นสีดำสนิท …หมดทางซัก”

เสด็จกลับจากประเทศอังกฤษ

15. วันที่ 11 กรกฎาคม 2513 เวลา 11.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐานไปทรงรับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ซึ่งเสด็จจากประเทศอังกฤษมาประทับในประเทศไทย ระหว่างโรงเรียนปิดภาคการศึกษา ณ กองบัญชาการกองทัพอากาศดอนเมือง ในโอกาสนี้ พระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการผู้ใหญ่ฝ่ายทหาร ตำรวจ และพลเรือน รวมทั้งประชาชนเฝ้าฯ รับเสด็จ

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ (พระนามเดิม) ทรงคมพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (วันศุกร์ ที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี (พระอภิไธยในขณะนั้น) เสด็จฯไปทรงเปิดงานกาชาด ประจำปีพุทธศักราช ๒๔๙๙ ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทย เป็นปีแรก)

พระราชนิพนธ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน